ถ้าเรามีบ้านซักหลังหรือคอนโดซักห้อง เราก็อยากได้บ้าน-ห้องสวยๆ ใช่ไหม ซึ่งเจ้าของบ้านก็จะเตรียมจัดหาเฟอร์นิเจอร์ดีๆ สวยๆ ที่เหมาะกับสไตล์ของตัวเองมา ตกแต่งภายในบ้าน และห้องต่างๆ เจ้าของบ้านก็คงต้องเลือกและตัดสินใจว่า ควรจะเลือกเฟอร์นิเจอร์มาตกแต่งภายในแบบไหนดี ระหว่างเฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน (Built-In Furniture) หรือ เฟอร์นิเจอร์ลอยตัว (Free Standing Furniture) ดีกว่ากัน เหมาะกว่ากัน อย่างไร เฟอร์นิเจอร์แบบไหนระหว่างสองประเภทนี้ดีกว่ากัน และแบบไหนที่จะตอบโจทย์การอยู่อาศัยของเรา เรามาเลือกดูข้อดี-ข้อด้อย ของเฟอร์นิเจอร์ทั้ง 2 แบบนี้กัน
เฟอร์นิเจอร์ แบบบิวท์อิน-ลอยตัว คืออะไร
Built-In Furniture (เฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน) คือ เฟอร์นิเจอร์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเฉพาะเจาะจงเพื่อติดตั้งในพื้นที่นั้นๆ ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ (ล็อคไว้กับพื้นที่ติดตั้ง) เฟอร์นิเจอร์แบบนี้จะถูกออกแบบและจัดวางเพื่อพื้นที่บริเวณนั้นโดยเฉพาะ เฟอร์นิเจอร์บิวท์อินเป็นเฟอร์นิเจอร์แบบติดแล้วติดเลย เฟอร์นิเจอร์ชนิดนี้อาจทำขึ้นจากโรงงาน หรือประกอบที่หน้างานก็ได้
Free Standing Furniture (เฟอร์นิเจอร์ลอยตัว) คือ เฟอร์นิเจอร์ทั่วไปที่ขายเป็นชิ้นๆ ซึ่งเราสามารถจัดวางตรงไหนก็ได้ในห้องได้ตามใจชอบ โดยเป็นเฟอร์นิเจอร์แบบนี้ จะถูกออกแบบสำเร็จและผลิตมาจากโรงงาน ไม่สามารถดัดแปลงแก้ไขรูปแบบตามความชอบได้ ซึ่งปัจจุบันจะเป็นในส่วนของเฟอร์นิเจอร์แบบน็อคดาวน์ ที่จัดส่งแยกเป็นชิ้นส่วนให้สะดวกต่อการจัดส่ง และนำมาประกอบที่หน้างานได้ง่าย
ข้อดีของเฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน
- ออกแบบได้ตามต้องการ : ไม่ว่าเราจะต้องการดีไซน์แบบไหน รูปแบบอย่างไร ใช้วัสดุอะไร หรือมีฟังก์ชั่นการใช้งานแบบไหน ก็สามารถสร้างขึ้นมาได้เพียงแค่บอกความต้องการแก่นักออกแบบและช่างที่ทำเฟอร์นิเจอร์เท่านั้น
- ช่วยประหยัดพื้นที่ภายในห้อง : เฟอร์นิเจอร์ที่ถูกออกแบบมาสำหรับพื้นที่เท่านี้ ขนาดเท่านี้ ก็จะสามารถทำให้เราใช้ประโยชน์ของพื้นที่ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด แม้ในพื้นที่ขนาดเล็กก็สามารถออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่มีฟังก์ชั่นได้หลากหลาย เหมาะสำหรับห้องที่มีพื้นที่จำกัด อย่างเช่นห้องในคอนโด เป็นต้น
- มีความระเบียบเรียบร้อย-เป็นสัดส่วน : เฟอร์นิเจอร์จะถูกออกแบบมาเพื่อบ้านหรือคอนโดของเราโดยเฉพาะ ซึ่งจะเข้ากันกับพื้นที่ของเราพอดี สามารถใช้สอยพื้นที่ของเราได้อย่างคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นบิวท์อินห้องนอน บิวท์อินห้องน้ำ บิวท์อินห้องรับแขก-ห้องโถง บิวท์อินห้องทำงาน ทำให้ภาพรวมภายในห้องจึงดูเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม เข้ากับพื้นที่ภายในห้อง และเป็นสัดส่วนมากขึ้น และเข้ากันกับสไตล์ห้องของเรา
- สามารถทำความสะอาดบ้านได้ง่าย : เมื่อภายในบ้านมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น เท่ากับการสามารถลดการออกแรงในการทำความสะอาดบ้านได้นั่นเอง การทำความสะอาดภายในบ้านจึงกลายเป็นเรื่องง่ายในทันทีเมื่อคุณใช้เฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน
ข้อด้อยของเฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน
- เคลื่อนย้ายยาก : การรื้อถอนเฟอร์นิเจอร์บิวท์อินจะเป็นงานที่ยุ่งยากและต้องว่าจ้างช่างในการรื้อ เพราะ เฟอร์นิเจอจะถูกล็อคขนาดให้เข้ากับพื้นที่ติดตั้งไว้แล้ว หากต้องการเปลี่ยนการตกแต่งห้องในภายหลังอาจจะทำได้ยาก
- ราคาสูง : เมื่อเทียบกับเฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัว ก็จัดว่ามีราคาสูงกกว่ามาก เพราะต้องให้นักออกแบบภายในหรือ Interior มาออกแบบและร่างภาพออกมาก่อน จึงต้องจัดเตรียมงบสำหรับการจ้างนักออกแบบด้วย ซึ่งนอกจากจะสามารถออกแบบได้ดั่งใจตามพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านแล้ว เฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน ยังสามารถเลือกวัสดุที่ต้องการในการประกอบได้อีกด้วย ยิ่งวัสดุดีเท่าไหร่ ราคาก็จะสูงขึ้น แล้วเราก็จะได้เฟอร์นิเจอร์สวยดั่งที่ใจต้องการ นี่เองที่ทำให้เฟอร์นิเจอร์บิวท์อินมีราคาที่สูงกว่าเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวทั่วไป
ข้อดีของเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว
- เคลื่อนย้ายง่าย : การย้ายตำแหน่งเฟอร์นิเจอร์ทำได้ง่าย การเปลี่ยนตำแหน่งการจัดวางสามารถทำได้ตามสะดวกต่อการใช้งาน และเมื่อเสื่อมสภาพก็สามารถเปลี่ยนใหม่ รื้อออกได้ โดยไม่ทำผนังห้องเสียหายอีกด้วย สามารถนำมาติดตั้งได้โดยวัดขนาดคร่าวๆ ได้เลย
- ได้เห็นสินค้าจริงก่อนซื้อ : สามารถดู-เลือกเฟอร์นิเจอร์จากสินค้าจริงได้เลย ไม่เหมือนเฟอร์นิเจอร์บิวท์อินที่จะได้เห็นก็ต่อเมื่อติดตั้งภายในห้องแล้ว
ข้อด้อยของเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว
- ความทนทาน : ความทนทานของเฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัวแปรผันกับราคาและคุณภาพวัสดุ หากเป็นวัสดุต้นทุนต่ำ ระยะเวลาอายุการใช้งานก็จะสั้นลงไปด้วย
- ไม่พอดีกับห้อง : เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวบางชิ้น-บางชุด อาจมีสัดส่วนไม่พอดีกับห้อง ทำให้เสียพื้นที่ใช้สอยและเกิดพื้นที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ (Wasted Space) ซึ่งก่อนจะเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวแต่ละชิ้น จึงต้องทำการวัดระยะสัดส่วนของห้อง เพื่อให้ได้เฟอร์นิเจอร์ที่มีขนาดเหมาะสมนั่นเอง
ในเรื่องของความคงทนต่อการใช้งาน อาจจะไม่ได้เกี่ยวว่า เป็นกลุ่มของ เฟอร์นิเจอร์บิ้วอิน หรือเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวเสียทีเดียว แต่ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ในการผลิต และความทะนุถนอมในการใช้งานเป็นสำคัญ เช่น หากใช้ไม้อัด (Particle Board) เป็นวัสดุหลักของการทำเฟอร์นิเจอร์ จะทำให้ความแข็งแรงคงทนน้อย และเสียหายง่ายหากโดนความชื่น เพราะเฟอร์นิเจอร์จะบวมพองและขึ้นราได้ง่าย
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงวัสดุที่นำมาใช้เคลือบผิวภายนอกเพื่อความสวยงามอีกด้วย เช่น เมลามีน ไม้วีเนียร์ (Wood Veneer) ผิวพีวีซี ลามิเนต หรือผิวเคลือบเงา Hi-Gloss ทั้งนี้ยังรวมไปถึงวัสดุปิดผิวบริเวณสันบานพับหรือช่วงจุดเชื่อมและรอยต่อต่างๆ ซึ่งเป็นจุดอ่อนต่อความชื้นได้เช่นกัน